ที่มาของโครงการ

ที่มาและความสำคัญของโครงการห้องเรียนวิทยาศาสตร์ (วมว.)

ด้วยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจด้านการพัฒนากำลังคนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโยโลยีของประเทศไทยเล็งเห็นว่ากลไกการพัฒนาอัจฉริยะภาพทางวิทยาศาสตร์ในระดับเยาวชนที่เป็นอยู่ในปัจจุบันไม่เพียงพอต่อการสร้างฐานกำลังคนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องจนถึงระดับเป็นมวลวิกฤต (Critical mass)

ดังนั้นจำเป็นต้องมีกลไกในการสนับสนุนเพื่อส่งเสริมให้เกิดการจัดการที่เอื้อต่อการสร้างกำลังคน โดยถือเป็นการดำเนินการร่วมกันของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระทรวงศึกษาธิการ ในการจัดทำโครงการ วมว.เพื่อรองรับนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในการพัฒนาเป็นนักวิจัยศักยภาพใหม่ให้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและเป็นกำลังสำคัญของประเทศต่อไปในอนาคตโดยคัดสรรนักเรียนที่มีศักยภาพสูงทางด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เพื่อส่งเสริมให้เป็นนักวิจัยหรือผู้มีความรู้ความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีคุณภาพอันจะเป็นกำลังสำคัญต่อการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต

โครงการสนับสนุนการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนโดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (โครงการ วมว.) เป็นโครงการนำร่องเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยในระยะแรกมีมหาวิทยาลัยและโรงเรียนเข้าร่วมโครงการจำนวน 4 คู่ กระจายอยู่ตามภาคต่างๆ ทั่วประเทศ คือ

  1. โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  2. โรงเรียน มอ.วิทยานุสรณ์ โดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัยสงขลา
  3. โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย โดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
  4. โรงเรียนดรุณสิกขาลัย โดยการกำกับดูแลของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับการพิจารณาให้เข้าร่วมโครงการ วมว. ระยะที่ 2 จึงได้ดำเนินการจัดตั้งโครงการ วมว.มธ.-สกร. ขึ้น โดยมีโรงเรียนคู่ความร่วมมือคือ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รังสิต ทางโครงการฯ ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆของมหาวิทยาลัยในการสนับสนุนให้การเรียนการสอนดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และได้จัดทำหลักสูตรที่มีความโดดเด่นในการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เป็นสากล โดยการปฏิบัติจริงและใช้หลัก Project-Based Learning กระตุ้นให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ สามารถศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง มีเจตคติที่ดีต่อวิทยาศาสตร์และนำไปสร้างประโยชน์ต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน เน้นบูรณาการความรู้ระหว่างสาระการเรียนรู้ที่หลากหลาย เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมและเทคโนโลยีผ่านการทำโครงงานวิทยาศาสตร์อย่างต่อเนื่อง

บทความที่เกี่ยวข้อง